- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท.3 ติดตามเกษตรกรทำอินทรีย์ เผย ผลผลิตสูงขึ้นจริง แนะเกษตรกรที่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนต้องเชื่อมั่น
ข่าวที่ 164/2559 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559
สศท.3
ติดตามเกษตรกรทำอินทรีย์ เผย ผลผลิตสูงขึ้นจริง
แนะเกษตรกรที่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนต้องเชื่อมั่น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่
3 สำรวจเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ จังหวัดหนองคาย ปี 59
เผย เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มากกว่า 3 ปี
หรือได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตจะค่อยๆ
สูงขึ้นตามคุณภาพของดินและปริมาณน้ำ ในขณะที่เกษตรกรอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนช่วง
1-3 ปี บางส่วนยังขาดความเข้าใจและการนำความรู้ไปปฏิบัติ แนะ 4
แนวทางพัฒนาการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3)
ได้สำรวจเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดหนองคาย
ปี 2559 พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนช่วง 1-3 ปี
การปรับเปลี่ยนจากเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก
อีกทั้งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์
เกษตรกรบางส่วนยังไม่เข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์
และไม่ได้นำความรู้จากการอบรมไปปฏิบัติในฟาร์ม รวมทั้งปัญหาเรื่องน้ำ
สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการทำเกษตรอินทรีย์
จึงทำให้บางรายถอดใจหันกลับไปทำเกษตรเคมีเช่นเดิม
ส่วนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มากกว่า
3 ปี หรือได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตจะค่อยๆ
สูงขึ้นตามคุณภาพของดินและปริมาณน้ำ รวมถึงการบำรุงดูแลรักษา แต่ยังประสบกับปัญหาเรื่องตลาดรองรับผลผลิตมีน้อย
จึงส่งผลให้ราคาขายไม่แตกต่างจากราคาสินค้าเกษตรปกติ อย่างไรก็ตาม พบว่า
เกษตรกรในกลุ่มนี้ยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรอินทรีย์ต่อไป
ด้วยคำนึงถึงสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและผู้บริโภคเป็นสำคัญ
และคาดหวังว่าใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับจะทำให้สามารถขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ในราคาสูง
จากปัญหาและความคาดหวังของเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว
สศท.3 จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จังหวัดหนองคายปี 2560-2564 ด้วย 4
แนวทาง คือ 1) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดย ลด ละ
เลิกการใช้สารเคมี ผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ในเบื้องต้นแล้วมุ่งเน้นการผลิตให้ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศและระดับสากล
2)
ส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเกษตรอินทรีย์ โดยการรวมกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าในจังหวัดหนองคาย
จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าหรือตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญระหว่างประเทศไทยกับ
สปป.ลาว ปรับตำแหน่งทางการตลาดให้เป็นสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียม
อีกทั้งปรับปรุงส่วนผสมทางการตลาด (4P) ได้แก่
พัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์
การสร้างแบรนด์และความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด
ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย
ปรับราคาตามต้นทุนที่แท้จริง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาด
3)
ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร Cluster เกษตรอินทรีย์ให้มีความเข้มแข็ง
ให้มีองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์
สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมมาปรับใช้ได้ในฟาร์ม (Smart
Farmer) รวมถึงสามารถเจรจาการค้าดังเช่นเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตร พาณิชย์ วิทยาศาสตร์
และอุตสาหกรรม เป็นต้น และ 4) บริหารจัดการและขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงด้านการผลิต
ด้านการตลาด รวมถึงผสมผสานเทคโนโลยีและวิธีชาวบ้านให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไป
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่
3 จังหวัดอุดรธานี